วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ตำนาน ถ้ำแม่อุษา



ตำนาน ถ้ำแม่อุษา

ในอดีตกาลเมื่อครั้งเกิดสงคราม มีเจ้าเมืองอยู่เมืองหนึ่งแพ้สงคราม
จึงต้องพาครอบครัวอพยพหนีข้าศึก เจ้าเมืองมีลูกชาย 6 คน ลูกสาว 1 คน
ชื่อว่า แม่อุษา เนื่องจากแม่อุษาได้ท้องแก่มาก จำเป็นต้องหยุดพักเป็นระยะ ๆ
ผนวกกับมีสัมภาระข้าวของเงินทองมากมาย จึงทำให้การเดินทางต้องล่าช้าเมื่อมาถึงถ้ำแห่งหนึ่งฝ่ายผู้เป็นบิดา เห็นว่า ยังมีข้าศึกไล่ประชิดเข้ามาทุกที เกรงว่าจะหนีไม่รอดกันทั้งหมด ก็เอ่ยปากว่า "ถ้าหอบข้าวของหนีต่อไปก็คงจะไม่ไหว จะมีใครไหมที่จะอาสาเฝ้าถ้ำนี้ตลอดไป " แม่อุษาได้ยินดังนั้นก็คิดว่า ตัวเองนั้นท้องแก่เต็มที่หากตัวเองเดินทางต่อไปก็จะเป็นภาระให้
พ่อแม่และพี่ๆ จึงตัดสินใจแล้วบอกผู้เป็นบิดาว่า ถ้าพ่อเห็นควรอย่างนั้นลูกก็ขออาสา

เจ้าเมืองจึงใช้มีดดาบฟันคอแม่อุษาจนขาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม่อุษาจึงคอยระวังรักษาสมบัติต่างๆ อยู่ในถ้ำแห่งนั้น และมีเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ถ้าหากใครต้องการของสิ่งใดก็สามารถขอยืมออกไปจากถ้ำได้ แต่ต้องนำมาคืน ครั้งแรก ๆ ชาวบ้านหยิบยืมไปก็นำมาคืน แต่พอระยะหลังก็นำมาคืนบ้างไม่คืนบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้คืนมากกว่า แม่อุษาก็เลยโกรธจึงปิดปากถ้ำจนไม่สามารถเข้าไปได้ ถ้ำนั้นก็เลยได้ชื่อว่า ถ้ำแม่อุษา มาจนกระทั่งทุกวันนี้

อย่างภาพนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าหินก้อนนี้คือตัวแทนของเจ้าแม่อุษาคุณคิดว่าหินก้อนนี้คล้ายผู้หญิงมวยผมยืนหันหลังไหมคะ

ความสวยงามภายในถ้ำ


ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด

ศิลาจารึก หลักที่ ๑

ตำนาน ศาลเจ้าพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด

พ่อขุนสามชน เป็นราชบุตรของพ่อขุนจันคำเหลืองเจ้าเมืองฉอด และเจ้าแตงอ่อน (เจ้ามุกขวดี) มีพระอนุชาชื่อ พ่อขุนพุฒวงษ์ยนต์หงส์ เมื่อพ่อขุนจันคำเหลืองสวรรคตแล้ว พ่อขุนสามชนราชบุตรองค์ใหญ่ได้สืบราชสมบัติในเมืองฉอดแทนพระราชบิดา ต่อมามีเจ้าแม่มโนราห์เป็นชายา เมืองฉอดปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแม่ระมาดซึ่งอยู่เหนืออำเภอแม่สอดขึ้นไป พ่อขุนสามชนสืบราชสมบัติต่อมาไม่นาน ก็ทรงเริ่มทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขต และด้วยเป็นขุนศึกที่เชี่ยวชาญเชิงยุทธ์ประกอบกับมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารีย์รักไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน จึงเป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชนมาก และยิ่งกว่านั้นในวันธรรมสวนะก็ สั่งสอนในเรื่องของธรรมแก่ราษฎรมิได้ขาด สาเหตุที่ขุนสามชนทำศึกกับสุโขทัยนั้นเป็นเพราะความเข้าใจผิดกัน เพราะก่อนหน้านี้ขอม สมาด โขลญลำพง ยึดอำนาจเป็นใหญ่ที่เมืองสุโขทัยและข่มเหงรังแกคนไทยมาก พ่อขุนสามชนจึงดำริว่า จะต้องยกกองทัพไปตีเมืองสุโขทัยก่อน เพื่อล้มอำนาจ ขอม สมาด โขลญลำพงและจะรวมไทยเข้าเป็นปึกแผ่นเข้าด้วยกัน โดยมีสุโขทัยเป็นเมืองแม่แต่ขณะที่ยกทัพไปนั้น พ่อขุนบางกลางท่าวกับพ่อขุนผาเมืองได้ปราบขอมสำเร็จแล้ว และพ่อขุนบางกลางท่าว ก็ได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงพระนามว่า พระเจ้าขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนสามชนได้ข่าวก็รู้สึกยินดีเป็นล้นพ้น แต่ก็เดินทัพต่อเพื่อต้องการเกลี้ยกล่อมคนไทย ด้วยกันให้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงสุโขทัย หาได้ต้องการเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันไม่ แต่ทางสุโขทัยไม่ทราบเรื่องเพราะขุนสามชนไม่ได้แจ้งให้ทราบจึงเกิดความเข้าใจผิด มื่อกองทัพปะทะกันยังไม่ทันได้พูดจา จึงเกิดการต่อสู้กัน พ่อขุนสามชนกระทำยุทธหัตถีกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์อ่อนล้าและกำลังจะถอยร่นไปนั้น พ่อขุนรามราชบุตรก็เข้ามาช่วยจนขุนสามชนเสียหลักและบาดเจ็บหลายแห่ง จึงถอยทัพกลับเมืองฉอด ฝ่ายพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ก็มิได้ติดตามไปซ้ำอีกเพราะเห็นเป็นไทยด้วยกัน ขุนสามชนรู้สึกเสียใจมากที่ลูกหลานไทยตายไปจำนวนมาก เมื่อหายจากประชวรแล้ว ก็ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติให้พระอนุชา คือ พ่อขุนพุฒวงษ์ยนต์หงษ์ และตรัสสอนว่าให้ดูแลทุกข์สุขของราษฎรทุกคนเหมือนลูกหลาน จงรวมคนไทยที่แตกแยกเข้าด้วยกัน หากเกิดศัตรูที่เป็นคนต่างชาติจะมาเอาแผ่นดินจงรวมพลังกันต่อสู้

ู้


วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เรื่อง เห่อคำไทย





จั๋นตาเป็นสาวเหนือที่ไปทำงานกรุงเทพฯนัยว่าเป็นที่มาของรายได้จากบางอย่างที่เป็นเงินมาก ไม่นานนักจั๋นตาก็กลับมาเยี่ยมบ้านพร้อมกับสีสันบนใบหน้าและเครื่องแต่งกายพร้อมทั้งความร่ำรวย แต่ที่คนอื่นตามไมทันก็คือจั๋นตาพูดแต่ภาษาไทยกลางโดยไม่พูดคำเมืองเลย

วันสุดท้ายก่อนที่จั๋นตาจะกลับจากบ้านนาไปหากินในกรุงเทพฯตามเดิมนั้นจั๋นตาก็ไปซื้อของในตลาด

เพื่อเอาไปฝากเพื่อนร่วมอาชีพของเธอ ครั้งนั้นได้พบเพื่อนเก่าที่เป็นแม่ค้าในตลาดจึงสนทนาประสาเพื่อนเก่าว่า

"อี่จั๋น มึงไปอยู่กรุงเทพฯ แต่งตั๋วงามแต้น่อ" จั๋นตาก็จีบปากตอบไปอย่างภาคภูมิว่า
"อุ๊ย ใครๆ ไปอยู่กรุงเทพมีงานทำได้เงินดี ๆ ก็แต่งตัวสวยอย่างนี้ ทั้งนั้นแหละ" สองคนพูดกันอยู่นาน เพื่อนแม่ค้าสังเกตได้ว่าจั๋นตาไม่ยอมพูดคำเมืองเลย จึงพูดว่า "มึงไปอยู่กรุงเทพฯ บ่เมิน มึงลืมคำเมืองหมดแล้วกา กูบ่หันมึงอู้คำเมืองเลย" จั๋นตานิ่วหน้า ตอบไปว่า
"แหม ใครๆ ที่นั่นเค้าพูดอย่างนี้ทั้งนั้นนี่นา ฉันพูดอยู่ทุกวัน คำเมืองไม่ได้พูดเลย ก็ลืมกันไปบ้างน่ะซี"
"เอ่อ เอ่อ แล้วมึงจะปิ๊กกรุงเทพ ฯ เมื่อใด" จั๋นตานึกถึงกรุงเทพฯ แล้วก็ยืดกายด้วยความภาคภูมิแล้วตอบไปว่า
"
แถมบึ่ด" (อีกสักพัก)

เรื่อง คนขี้เหนียว

พ่อ "ไอ่หน้อย : ไปยืมค้อนที่บ้านลุงจันมาหื้ออีป้อกำ บอกว่าอีป้อขอยืมมาจดเหล็กกน กำเดียวจะ เอามาคืน

(ไอ้หนู ไปยืมค้อนบ้านลุงจันมาตอกตะปู เดี๋ยวจะเอาไปคืน)

สักครู่ไอ้หนูก็วิ่งกลับมาบอกว่า ไอ้หนู

"ป้อ เขาว่าบ่มี" (พ่อ เขาว่าไม่มี) พ่อ

"ฮึ มันขี้จุ มันมีแต่มันขี้จิ๊ บ่หื้อเฮายืม อั้นไอ้น้อย ฅิงไปเอาค้อนของเฮามาใช้ บ่ต้องไปง้อมัน ไอ่คนขี้จิ๊จะอั้นน่ะ"

(มันหลอก มันขี้เหนียว เอ็งไปเอาของเรามาใช้ ไม่ต้องง้อ)

เรื่อง อ้ายนี้ลามก

เป็นธรรมดาที่หนุ่มสาวจะหาโอกาสพูดคุยกันเสมอ หนุ่มสาวคู่นี้ก็เช่นกันที่คุยกันอย่างสนุกสนาน เมื่อคุยกันไปได้พักหนึ่ง หนุ่มก็เงียบไป

หญิง"อ้ายคึดอะหยังอยู่"(พี่คิดอะไรอยู่หรือคะ)

ชาย "อ้ายก็คึดอย่างที่น้องคึดนั้นละก่า" (ก็คิดเหมือนน้องนั่นแหละ)

หญิง "ฮึ อ้ายนี้คึดลามก"

เรื่อง หนีบ่พ้น



เรื่อง หนีบ่พ้น

หลังจากที่แต่งงานกันมา ๗ เดือน สามีก็ต้องทนกิน"ต๋ำบ่าเขือ"(ตำมะเขือ)อาหารโปรดของภรรยาตลอดมาวันหนึ่งสามีเดินทางเข้าไปขายของป่าในเมืองได้เงินติดตัวบ้างก็คิดว่าน่าจะกินอาหารดีๆสักมื้อ จึงเดินเข้าไปในร้านอาหารเมื่อบ๋อยส่งรายการอาหารให้ดู สามีก็ชี้หมับลงไปที่รายการหนึ่งเพราะอ่านหนังสือไม่ออก เมื่อบ๋อยยกอาหารมาให้สามีก็ต้องถอนใจเพราะอาหารที่สั่งนั้นคือ"ต๋ำมะเขือ"นั่นเองขณะที่กิน อาหารนั้นก็ชำเลืองไปดูโต๊ะข้างๆเห็นเขากินก๋วยเตี๋ยวอยู่ก็อยากจะกินก๋วยเตี๋ยวบ้างแต่ตนเองไม่รู้จักชื่อ บังเอิญชายโต๊ะข้างๆคนนั้นกินก๋วยเตี๋ยวชามเดียวไม่อิ่ม จึงตะโกนสั่งเพิ่มไปอีกว่า
"เหมือนเดิม หนึ่ง" บ๋อยก็ยก ก๋วยเตี๋ยวมาให้ชายคนนั้นอีกหนึ่งชาม หลังจากที่ทนกล้ำกลืนตำมะเขือให้หมดแล้วก็อยากสั่งอย่างที่ชายคนนั้นสั่งไปบ้าง ก็ตะโกนสั่งบ๋อยว่า
"เหมือนเดิม หนึ่ง" บ๋อยก็ยกเอาตำมะเขือมาให้อีกจานหนึ่ง หนุ่มตำมะเขือก็ถึงกับอุทานว่า

"
เฮ้อ อย่างใดก็หนีบ่พ้น"

เรื่อง สูฮักข้าก่อ (เธอรักฉันไหม)

ผัวเมียเพิ่งแต่งงานใหม่คู่หนึ่งอยากทดลองดูว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะรักตนหรือไม่ จึงนอนคลุมโปงเดียวกัน ผัวตดออกมา ก็ถามเมีย

"สู..สู..ฮักข้าก่อ" เมีย "ฮักก่า ถ้าข้าบ่ฮักข้าก็เอาฮูดังออกผ้าทวบก่า"

(รักซิ ถ้าไม่รักก็เอาจมูกออกนอกผ้าห่มแล้วละ) สักครู่หนึ่ง เมียก็ตดบ้าง เมียก็ถามผัวว่า

"สู..สู..ฮักข้าก่อ" ผัวรู้สึกเหม็นจึงเอาจมูกออกนอกผ้าห่มคลุมโปง แล้วรีบตอบเอาใจเมียว่า

"ฮักก่า ถ้าข้าบ่ฮักข้าจะเอาฮูดังออกนอกผ้าทวบเยียะหยัง" (ถ้าไม่รักจะเอาจมูกออกนอกผ้าห่มทำไม)

เรื่อง ควายเบี่ย

ควายเบี่ย ๆ ออกสำเนียงว่าควายเบี่ย ถ้าอู้ถึง เอ่อ เป๋นคนอย่างยุคปัจจุบันเปรียบเทียบกับพวกโรคจิต โรคจิต ลามก อะหยังอี้น่า ฮ้องว่าควายเบี่ย ตะก่อนเปิ้นฮ้องกั๋น คนสมัยก่อนบ้านเปิ้นบ่มีฝากะจะเป๋นบ้านฝาก ห้องบ่มีจะเป๋นโล่งๆ เอ่อ ชอบไปถ้ำมองแหยังเปิ้น สมัยก่อนบ่มีห้องน้ำเวลาไปอาบน้ำตี้บ่อพั่ง ไปแอบดูเปิ้น นี่คือพวกควายเบี่ย

เรื่อง กะลาต๋าวอด

กะลาต๋าวอด คือประเภทเดียวกัน แต่มันเป็นสำนวน ของคนท้องถิ่น คนท้องถิ่นทางนี้จะเรียก กะลาหมายถึงแขก ที่เป็นอิสลามอ่ะ สมัยก่อนที่นี่มีแขกนักอ่ะ นับหลังคาบ้านเขาได้ คะนี้ คำว่ากะลานี้ ตัวมันดำอ่ะเน่อะ ค่อนข้างจะมีเครา ลักษณะยังอี้ ละอ่อนกั๋ว เค้าเลยเอาไว้ขู่ล่ะอ่อน สมัยนั้นกะขู่ กะลาต๋าวอด กะจะกั๋วกันล่ะ ถามว่าทำไมถึงกั๋ว ผู้ใหญ่จะขู่ไว้ว่ามันจะปาดคอ ซึ่งจริงๆกะเป๋นเรื่องเล่า คนสมัยก่อนเวลาจะก่อสร้างสะพานเนียะ มีความเชื่อว่าอยากจะหื้อสะพานนั้นค่อนข้าง เอ่อ สำเร็จ สร้างแล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครอง สะพานมันสร้างยาก เขากะมีการเช่นว่าบางทีกะตัดคอคนงานรึคนแถวๆนั้น เพื่อตี้จะหื้อต๋ายละเป๋นผีเฝ้าสะพานหั้น คล้ายๆเซ่นสังเวย กะลาต๋าวอด จึงเอาไว้ขู่ล่ะอ่อน จะได้ฮู้จักกลั๋ว บ่ไปแอ่วตี้ไหน แต่มันมีนี่แหมตัวนึ่ง กะลาปู๊ดสะแมน เกยได้ยินว้า อื่อ ได้ยินก่อ ปู๊ดสะแมน พ่อเล่าให้ฟังว่าเดิมนี่หนาคนนี้เป๋นคนส่งจดหมาย พวกสมัยอังกฤษอ่ะ อ่าคะนี้มันมาจากคำว่าโพสแมน คนที่มาส่งจดหมาย ไปรษณีย์คนนี้น่าเป๋นกะลา มันเลยเป็นกะลาปู๊ดสะแมน มันมีถุงเมล์ ใช้แบกมาส่งจดหมาย เลยได้ชื่อว่ากะลาปู๊ดสะแมน เสียงมันเพี้ยนๆไปน่า




กะลา



เรื่อง ถวายพระสงฆ์ได้ส่วนบุญกับญาติ

วัดหลวง

มันเมินล่ะหนา ปอจะลืมล่ะ เรื่องมันเกิดที่ คนถวายที่วัด คนตะก่อนนี่เนอะ ม่าน เงี้ยว เปิ้นจะใส่ปิ่นโต วัดอื่นๆสมัยก่อนกะเหมือนกัน มีญาติโยมอยู่บ้านหนึ่ง เปิ้นใส่ปิ่นโตล่ะ เปิ้นขี้คร้านไปวัดเลยหื้อลูกจ้างไป บอกว่า อ่ะ เอาไปวัด ไปหื้อญาติที่ต๋ายอ่ะ ปกติต๋ายมักจะฝังตี้วัด คนมีอันจะกินสมัยนั้นอ่ะน่ะ เพราะอยากจะหื้ออยู่กะวัด ได้ใกล้บุญใกล้สวรรค์ เอาไป คานี้พอเอาไปถวาย ลูกจ้างกะเอาไป พอไปพระก็บอก เอ๋ เจ้าของเปิ้นหยังบ่มา เอ่อ ถ้าเจ้าของบ่มา บ่ได้บุญเน้อ อู้กะลูกจ้างไป ลูกจ้างกะทำจะอี้เป๋นประจ๋ำ เพราะนายจ้างขี้คร้าน พระกะออกอุบาย บอก เอ่อ บอกหื้อญาติโยมเด้อ ที่ถวายพระเนี๊ยะพระได้บุญหมดล่ะ ญาติบ่ได้ เพราะพระเอาไปส่งหื้อญาติ เพราะฉะนั้นลูกจ้างได้บุญ ลูกจ้างปิ๊กมากะเล่าหื้อนายจ้างฟัง นายจ้างกะเจื่อกึ่ง บ่เจื่อกึ่ง กะหื้อลูกจ้างไปตามปกติ แล้วแอบตามไปดู แอบไปใกล้ๆคู่วัวที่ฝังน่าน่ะ ผีญาติโยมคล้ายๆจะโผดหื้อเป็นทีๆ คล้ายๆโชคลาภไปเรื่อยๆล่ะ เป๋นแก้วแหวนเงินทอง นายจ้างกะอยากได้ ขี้โลภพั่งอ่ะน่ะ กะเลยสั่งลูกจ้าง คะนี้เอ็งบ่ต้องไปล่ะ น้ายจ้างไปคนเดียว พอนายจ้างไปกะได้บุญกุศล นั่นก็คือ พระออกอุบายจะอี้

ตำนานคอกช้างเผือก




ตำนานคอกช้างเผือก

สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง ตามตำนานน่ะมีอยู่ว่า มะกะโทเป็นคนเลี้ยงช้าง เป็นชาวมอญ ได้ลักพาตัวเจ้าหญิง พระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงหนีมาอยู่กรุงหงสาวดี ต่อมาไม่นานมะกะโทได้รับแต่งตั้งแล้วก็สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีพระนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว ที่กรุงสุโขทัยขณะนั้นมีช้างเผือกอยู่เชือกหนึ่ง ดุร้ายมาก พ่อขุนรามจึงเสี่ยงทายอธิษฐานว่า หากช้างเผือกเชือกนั้นเป็นคู่บารมีของกษัตริย์องค์ใดให้เดินทางไปทางนั้น เมื่อประกอบพิธีเสร็จก็ปล่อยช้างไป ช้างเผือกเชือกนั้นได้ชูงวงเป็นทักษิณาวัตร เปล่งเสียงร้อง ครั้ง แล้วออกประตูเมืองเดินทางไปทางทิศตะวันตก พระองค์ทรงทราบทันทีเลยว่า เป็นช้างคู่บารมีของพระเจ้าฟ้ารั่ว จึงร่างสาสน์ให้ทหารนำไปให้พระเจ้าฟ้ารั่ว แจ้งว่าให้มาคอยรับเอาช้างเผือกนั้น พร้อมกับให้ทหารสะกดรอยตามช้างเผือกเชือกนั้นไป จนไปถึงเชิงเขาแห่งหนึ่งมีแม่น้ำขวางกั้น จึงได้ทรงทำเพนียดล้อมไว้แล้วก็ประกอบพิธีมอบช้างเผือกที่บริเวณนี้

คอกช้างเผือกนั้นน่ะ สร้างเป็นกำแพงก่ออิฐโบกปูน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ปัจจุบันยังมีอยู่น่ะ แต่ทรุดโทรมไปมากเลยล่ะ

ตำนานเจ้าพ่อพะวอ




ศาลเจ้าพ่อพะวอ ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ บนถนนสายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 62-63 ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาว เมืองตากและแม่สอดมาก

พะ แปลว่า นาย หรือ นาง เป็นคำนำหน้า ส่วน วอ แปลว่า แดง เพราะฉะนั้น ศาลเจ้าพ่อพะวอ แปลได้ว่า ศาลเจ้าพ่อนายแดง นั่นเอง
เล่ากันว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยงเป็นชายชาตินักรบมีศักดิ์ฐานะเป็นนายด่าน

แม่ละเมาเมืองหน้าด่านของไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

แผ่นจารึกด้านทิศใต้ภายในศาลเจ้าพ่อ ..พะวอ..
ตรงกับเหตุการณ์ที่ เอกสารพม่า ระบุว่า
เดือน 11 จ.ศ.1137
พระเจ้า ผองกาจาหม้องหม่อง
โอรสพระเจ้ามังระ พี่ชาย..พระเจ้าปะดุง..ได้ให้ ... อะแวหวุ่นกี้..
ยกทัพ 60 กองทัพ เข้ามาทาง ระแหง(ตาก) ผ่าน ด่านแม่ละเมา

ลุ... เดือน 11 ปี มะแม สัปตศก.เ พุทธศักราช 2318 กองทัพข้าศึกเคลื่อนทัพมายังไทย โดยผ่านทางด่านแม่ละเมา เจ้าพ่อพะวอ ตัดสินใจนำไพล่พลที่มีอยู่เข้าปะทะกับกำลังของข้าศึกอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทุกคนยอมตายถวายชีวิต ณ ยุทธภูมิด่านแม่ละเมาเชิงเขาแห่งนี้

เพราะเหตุที่เจ้าพ่อพะวอเป็นนักรบจึงชอบเสียงปืน ผู้ที่เดินทางผ่านนิยมยิงปืนถวายท่านเป็นการแสดงความเคารพ หรือ มิฉะนั้นก็จะจุดประทัด หรือ บีบแตรรถถวาย

ชาวบ้านเล่ากันมาว่าพอถึงฤดูฝนที่นี่จะได้ยินเสียงอาม๊อก (เสียงปืนใหญ่) เสียงนี้จะดังลั่นสนั่นไปทั่วทั้งเมืองและหุบเขา เชื่อกันว่าเป็นการเตือนจากเจ้าพ่อพะวอว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นต้นฝนก็หมายความว่า ลงพืชไร่ได้ แต่ถ้าเป็นฤดูแล้ง หมายความว่า จะเกิดอาเพศ

กลศึกผนึกแน่น ศึกไหนแม้นศึกแผ่นดิน ชีพชนยอมพลีสิ้นเลือดไหลรินมินำพา
แผ่นพื้นธรณินทร์ศิขรินสูงเสียดฟ้า ยอมแลกด้วยวิญญาเพื่อลูกหลานข้า องค์พะวอ

ศาลเจ้าพ่อพะวอ

คุณค่าของนิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้านมีคุณค่าหลายประการ ดังนี้
๑. นิทานให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
๒. นิทานช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว
๓. นิทานให้การศึกษาและเสริมสร้างจินตนาการ
๔. นิทานให้ข้อคิดและคติเตือนใจ
๕. นิทานช่วยสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมในอดีตหลายๆด้าน เช่น ลักษณะของสังคมวิถีชีวิตของประชาชนในสังคม ตลอดจนประเพณี ค่านิยมและความเชื่อ เป็นต้น

การแบ่งประเภทของนิทานพื้นบ้าน

การแบ่งนิทานพื้นบ้านออกเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา แบ่งไว้หลายคนดังนี้
กุหลาบ มัลลิกามาส แบ่งประเภทนิทานพื้นบ้าน ออกเป็น ๔ แบบ ดังนี้
๑. แบ่งนิทานตามเขตพื้นที่ เป็นการแบ่งโดยอาศัยเขตแดนทางภูมิศาสตร์ เช่น เขตอินเดีย เขตประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เขตประเทศอังกฤษ เป็นต้น
๒. แบ่งตามรูปแบบของนิทาน แบ่งได้เป็น ๕ ประเภท ดังนี้
๒.๑ นิทานปรัมปรา มีลักษณะเป็นเรื่องค่อนข้างยาว มาสารัตถะหลายสารัตถะ ประกอบอยู่ในนิทานนั้น เนื้อเรื่องประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น เป็นผู้มีอำนาจ มีบุญหรือมีฤทธิ์เดช อาวุธวิเศษมากมาย
๒.๒ นิทานท้องถิ่น นิทานชนิดนี้มีขนาดสั้นกว่านิทานปรัมปรา มักเป็นเรื่องเหตุการณ์เดียวและเกี่ยวกับความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี โชคลางหรือคตินิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นพื้นฐานของคนในแต่ละท้องถิ่น แม้ว่าจะเป็นเรื่องแปลกพิสดาร มีเค้าความจริง มีตัวละครจริง๐ มีสถานที่เกิดจริงที่กำหนดแน่นอน นิทานท้องถิ่นอาจจำแนกออกได้ดังนี้
๒.๒.๑ นิทานอธิบาย เช่น อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ อธิบายสาเหตุของความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับสถานที่ ตลอดจนโบราณสถานที่สำคัญ
๒.๒.๒ นิทานเกี่ยวกับความเชื่อต่าง ๆ เช่น โชคลาง เรื่องผีตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์
๒.๒.๓ นิทานเกี่ยวกับสมบัติที่ฝังไว้และลายแทง แนะให้ไปหาสมบัตินั้น ๆ
๒.๒.๔ นิทานวีรบุรุษ คือ เรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม ความฉลาด ความสามารถและความกล้าหาญของบุคคล มักมีกำหนดสถานที่ที่แน่นอนว่าเป็นที่ใดและมีกำหนดเวลาของเรื่องที่แน่นอน
๒.๒.๕ นิทานคติสอนใจ เป็นเรื่องสั้น ไม่สมจริง มีเจตนาจะสอนความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒.๒.๖ นิทานเกี่ยวกับนักบวชต่าง ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอภินิหารของผู้บวชที่เจริญภาวนาจนมีญาณแก่กล้า มีฤทธิ์พิเศษ
๒.๓ นิทานเทพนิยาย หมายถึง นิทานที่มีเทวดา นางฟ้า เป็นตัวละครในเรื่องนั้น เช่น พระอินทร์ หรือเป็นแต่เพียงกึ่งเทวดา เช่น เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าแม่ต่าง ๆ และมักมีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมทางศาสนา
๒.๔ นิทานเกี่ยวกับสัตว์ มีตัวละครในเรื่องเป็นสัตว์ทั้งที่เป็นสัตว์ป่า สัตว์บ้าน และบางเรื่องก็มีคนมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ไม่ใช่มีแต่สัตว์ล้วน แต่ทั้งคนและสัตว์นั้นจะพูดโต้ตอบกันเสมือนหนึ่งว่าเป็นมนุษย์ แบ่งย่อยออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๒.๔.๑ นิทานประเภทสอนคติธรรม นิทานประเภทนี้ตัวเอกของเรื่องจะต้องเป็นสัตว์เสมอ
๒.๔.๒ นิทานประเภทเล่าซ้ำหรือเล่าไม่จบ นิทานชนิดนี้มีเรื่องและวิธีการเล่าเป็นแบบเฉพาะ มีการเล่าซ้ำวนคือไม่มีจบ
๒.๕ นิทานตลกขบขัน มักเป็นเรื่องสั้น ๆ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่มีเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับความโง่ กลโกง การแก้เผ็ด การแสดงปฏิภาณไหวพริบ การพนันขันต่อ การเดินทางและการผจญภัยที่ก่อเรื่องผิดปรกติ ในแง่ขบขันต่าง ๆ

ความหมายของนิทาน

“นิทาน” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “นิทาน น. เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ , หน้า ๔๔๑.
“นิทานเป็นคำศัพท์ภาษาบาลี มีความหมายว่า คำเล่าเรื่อง” กิ่งแก้ว อัตถากร, “นิทานพื้นเมือง,” คติชนวิทยา เอกสารนิเทศการศึกษา ฉบับที่ ๑๘๔ , ๒๕๑๙, หน้า ๑๑.


การเล่านิทานมีมานานแล้วและมีอยู่ในทุกสังคม ดังที่สติธ ทอมป์สัน กล่าวไว้ในหนังสือ The Folktale ว่า ในทุกสังคมมีการเล่านิทานและมีผู้กระหายอยากจะฟังนิทานเสมอ เรื่องที่เล่าสู่กันฟังอาจมีลักษณะทำนองเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนัก หรืออาจมีลักษณะเป็นตำนาน ดึกดำบรรพ์ เป็นเรื่องของสัตว์ เทพ วีรบุรุษ มนุษย์ชายหญิง ฯลฯ การเล่านิทานเล่ากันได้ทุกแห่ง และมีทุกสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ในราชสำนัก จนถึงในบ้านชาวนาชาวสวน ในสังคมปัจจุบันซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การเล่านิทานก็ยังมีอยู่ อาจเล่าสู่กันฟังในรถยนต์ บนเครื่องบินหรือในห้องทำงาน ที่น่าสังเกตก็คือ วิธีการถ่ายทอดนิทานเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นสื่อในการถ่ายทอด นอกจากมีการเผยแพร่นิทานด้วยการตีพิมพ์แล้ว อาจมีการนำนิทานไปถ่ายทอดในรูปของละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ มีผู้มีความคิดเฉียบแหลมใช้วิธีอัดเทปบันทึกเสียงออกจำหน่ายเผยแพร่ มีทั้งนิทานสำหรับเด็กและมุขตลกสำหรับผู้ใหญ่ นิทานจึงยืนหยัดอยู่ในสังคมและทุกสมัย
นิทานพื้นบ้านที่ใช้เป็นข้อมูล เป็นนิทานมุขปาฐะ คือ รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยรักษาถ้อยคำสำนวนของผู้เล่าไว้ทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวได้รวบรวมขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ในอำเภอแม่สอด ซึ่งจะเห็นลีลาในการเล่า ทัศนคติของผู้เล่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเชิงวิเคราะห์นิทาน ได้อย่างลึกซึ้งและอนุรักษ์นิทานพื้นบ้าน อำเภอแม่สอด จังหวัดตากสืบต่อไป