วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ความหมายของนิทาน

“นิทาน” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “นิทาน น. เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ , หน้า ๔๔๑.
“นิทานเป็นคำศัพท์ภาษาบาลี มีความหมายว่า คำเล่าเรื่อง” กิ่งแก้ว อัตถากร, “นิทานพื้นเมือง,” คติชนวิทยา เอกสารนิเทศการศึกษา ฉบับที่ ๑๘๔ , ๒๕๑๙, หน้า ๑๑.


การเล่านิทานมีมานานแล้วและมีอยู่ในทุกสังคม ดังที่สติธ ทอมป์สัน กล่าวไว้ในหนังสือ The Folktale ว่า ในทุกสังคมมีการเล่านิทานและมีผู้กระหายอยากจะฟังนิทานเสมอ เรื่องที่เล่าสู่กันฟังอาจมีลักษณะทำนองเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนัก หรืออาจมีลักษณะเป็นตำนาน ดึกดำบรรพ์ เป็นเรื่องของสัตว์ เทพ วีรบุรุษ มนุษย์ชายหญิง ฯลฯ การเล่านิทานเล่ากันได้ทุกแห่ง และมีทุกสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ในราชสำนัก จนถึงในบ้านชาวนาชาวสวน ในสังคมปัจจุบันซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การเล่านิทานก็ยังมีอยู่ อาจเล่าสู่กันฟังในรถยนต์ บนเครื่องบินหรือในห้องทำงาน ที่น่าสังเกตก็คือ วิธีการถ่ายทอดนิทานเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นสื่อในการถ่ายทอด นอกจากมีการเผยแพร่นิทานด้วยการตีพิมพ์แล้ว อาจมีการนำนิทานไปถ่ายทอดในรูปของละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ มีผู้มีความคิดเฉียบแหลมใช้วิธีอัดเทปบันทึกเสียงออกจำหน่ายเผยแพร่ มีทั้งนิทานสำหรับเด็กและมุขตลกสำหรับผู้ใหญ่ นิทานจึงยืนหยัดอยู่ในสังคมและทุกสมัย
นิทานพื้นบ้านที่ใช้เป็นข้อมูล เป็นนิทานมุขปาฐะ คือ รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยรักษาถ้อยคำสำนวนของผู้เล่าไว้ทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวได้รวบรวมขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ในอำเภอแม่สอด ซึ่งจะเห็นลีลาในการเล่า ทัศนคติของผู้เล่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเชิงวิเคราะห์นิทาน ได้อย่างลึกซึ้งและอนุรักษ์นิทานพื้นบ้าน อำเภอแม่สอด จังหวัดตากสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: