วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การแบ่งประเภทของนิทานพื้นบ้าน

การแบ่งนิทานพื้นบ้านออกเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา แบ่งไว้หลายคนดังนี้
กุหลาบ มัลลิกามาส แบ่งประเภทนิทานพื้นบ้าน ออกเป็น ๔ แบบ ดังนี้
๑. แบ่งนิทานตามเขตพื้นที่ เป็นการแบ่งโดยอาศัยเขตแดนทางภูมิศาสตร์ เช่น เขตอินเดีย เขตประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เขตประเทศอังกฤษ เป็นต้น
๒. แบ่งตามรูปแบบของนิทาน แบ่งได้เป็น ๕ ประเภท ดังนี้
๒.๑ นิทานปรัมปรา มีลักษณะเป็นเรื่องค่อนข้างยาว มาสารัตถะหลายสารัตถะ ประกอบอยู่ในนิทานนั้น เนื้อเรื่องประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น เป็นผู้มีอำนาจ มีบุญหรือมีฤทธิ์เดช อาวุธวิเศษมากมาย
๒.๒ นิทานท้องถิ่น นิทานชนิดนี้มีขนาดสั้นกว่านิทานปรัมปรา มักเป็นเรื่องเหตุการณ์เดียวและเกี่ยวกับความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี โชคลางหรือคตินิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นพื้นฐานของคนในแต่ละท้องถิ่น แม้ว่าจะเป็นเรื่องแปลกพิสดาร มีเค้าความจริง มีตัวละครจริง๐ มีสถานที่เกิดจริงที่กำหนดแน่นอน นิทานท้องถิ่นอาจจำแนกออกได้ดังนี้
๒.๒.๑ นิทานอธิบาย เช่น อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ อธิบายสาเหตุของความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับสถานที่ ตลอดจนโบราณสถานที่สำคัญ
๒.๒.๒ นิทานเกี่ยวกับความเชื่อต่าง ๆ เช่น โชคลาง เรื่องผีตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์
๒.๒.๓ นิทานเกี่ยวกับสมบัติที่ฝังไว้และลายแทง แนะให้ไปหาสมบัตินั้น ๆ
๒.๒.๔ นิทานวีรบุรุษ คือ เรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม ความฉลาด ความสามารถและความกล้าหาญของบุคคล มักมีกำหนดสถานที่ที่แน่นอนว่าเป็นที่ใดและมีกำหนดเวลาของเรื่องที่แน่นอน
๒.๒.๕ นิทานคติสอนใจ เป็นเรื่องสั้น ไม่สมจริง มีเจตนาจะสอนความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒.๒.๖ นิทานเกี่ยวกับนักบวชต่าง ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอภินิหารของผู้บวชที่เจริญภาวนาจนมีญาณแก่กล้า มีฤทธิ์พิเศษ
๒.๓ นิทานเทพนิยาย หมายถึง นิทานที่มีเทวดา นางฟ้า เป็นตัวละครในเรื่องนั้น เช่น พระอินทร์ หรือเป็นแต่เพียงกึ่งเทวดา เช่น เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าแม่ต่าง ๆ และมักมีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมทางศาสนา
๒.๔ นิทานเกี่ยวกับสัตว์ มีตัวละครในเรื่องเป็นสัตว์ทั้งที่เป็นสัตว์ป่า สัตว์บ้าน และบางเรื่องก็มีคนมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ไม่ใช่มีแต่สัตว์ล้วน แต่ทั้งคนและสัตว์นั้นจะพูดโต้ตอบกันเสมือนหนึ่งว่าเป็นมนุษย์ แบ่งย่อยออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๒.๔.๑ นิทานประเภทสอนคติธรรม นิทานประเภทนี้ตัวเอกของเรื่องจะต้องเป็นสัตว์เสมอ
๒.๔.๒ นิทานประเภทเล่าซ้ำหรือเล่าไม่จบ นิทานชนิดนี้มีเรื่องและวิธีการเล่าเป็นแบบเฉพาะ มีการเล่าซ้ำวนคือไม่มีจบ
๒.๕ นิทานตลกขบขัน มักเป็นเรื่องสั้น ๆ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่มีเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับความโง่ กลโกง การแก้เผ็ด การแสดงปฏิภาณไหวพริบ การพนันขันต่อ การเดินทางและการผจญภัยที่ก่อเรื่องผิดปรกติ ในแง่ขบขันต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: